วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาษาธรรม
          โลภะ  โทสะ  โมหะ  คือภาษาธรรม
        คนในโลกนี้  มีภาษาจิตเหมือนกัน  คือ  มีโลภะ โทสะ โมหะ  แต่ว่าไม่มีใครรู้จัก โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่  สิกขาธรรม   หรือศึกษาธรรมตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
         ปุถุชน  จะมีความรู้เพียง 
๑.     โลภะ    ตรงกับภาษาไทยว่า   ความโลภ    อยากได้ของของเขา
๒.     โทสะ    ตรงกับภาษาไทยว่า   ความโกรธ  ความอาฆาตพยาบาท  ประทุษร้าย
๓.     โมหะ    ตรงกับภาษาไทยว่า   ความหลง   ความไม่รู้
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สร้างบารมีถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนกัป  เพื่อ  ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  แล้วทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์เพียง ๔๕ พรรษา  รวมพระธรรมถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์   เพื่อรื้อสัตว์  ขนสัตว์  ให้พ้นจาก “วัฏฏะ”  พ้นตากการเวียนเกิดเวียนตาย ทะเลแห่งทุกข์ไม่มีวันสิ้นสุด  ทรงสอนให้ “จิตของสัตวะ”  หลุดพ้นจาก  โลภะเหตุ ๘  โทสะเหตุ ๒  โมหะเหตุ ๑๒  หรืออกุศลสังคหะ ๙  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทุกสัตวะ  ได้มีการสะสมไว้ใน “ชวนจิต(อ่านว่า ชะวะนะจิต)  มาเป็นอสงไชยชาติ  จนติดตามตัวมา  จนนับภพนับชาติไม่ได้  เป็นนิสัยเป็นสันดานตน  ภาษาธรรมเรียกว่า  กิเลส ๑๐  อุปกิเลส ๑๖  อนุสัย ๗
        จริต  ต้องนำธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ไปขุดกิเลส ไปประหารเท่านั้น  จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ  ทีปุถุชนจะทำได้  โดยทั่วไปต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน อดกลั้น และตั้งใจมั่นเท่านั้น  ถ้าขุดกิเลสสันดานไม่ได้  ก็จะทำให้สัตวะ  เวียนว่ายตายเกิด  ในเขาวงกต ๓๑ ภพภูมิ  อย่างไม่สิ้นสุด
        ในที่นี้  จะแสดงความหมายของโลภะ โมหะ โทสะ  รากเหง้า ๓ อย่าง  ตามความหมายของพระพุทธองค์  อย่างหยาบ ๆ  ซึ่งยังเป็นภาษาโลก  ยังไม่สุขุมลุ่มลึก  ดังนี้
        โลภะ  หมายถึง  โลภะมูลจิต ๘ ประการ  ซึ่งเกิดจาก อกุสะละเจตสิก  ที่ทำงานเข้ากันได้ กับ โลภะจิต ๘   เป็นมูลเหตุ ๘ ดวง
๑.     ยินดี    และเห็นผิด  โดยไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๒.     ยินดี    และเห็นถูกต้องแล้ว  แต่ไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๓.     ยินดี    ไม่เห็นผิด  และไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๔.    ยินดี    ไม่เห็นผิด  แต่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๕.    จิตเฉย ไม่เห็นผิด  ไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๖.     จิตเฉย ไม่เห็นผิด  แต่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๗.    จิตเฉย เห็นผิด  ไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๘.    จิตเฉย เห็นผิด  และมีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
          อกุสะละเจตสิก  ที่ทำงานเข้ากันได้ กับ โลภะจิต ๘  ได้แก่  กลุ่มอัญญสมานาเจตสิก ๑๓  และกลุ่มกุสะละเจตสิก ๗ ได้แก่
๑.     ผัสสะ
๒.     เวทนา
๓.     สัญญา
๔.    เจตนา
๕.    เอกัคคตา (สมาธิ)
๖.     ชีวิตินทรีย์ (เจตสิกรักษาหล่อเลี้ยงจิต และเจตสิกทั้งหลาย)
๗.    มนสิการ (ใส่ใจ พิจารณา)
          โมจะตุกะเจตสิก ๔  โลติกะเจตสิก ๓๑  โดยวิเสสะ ลักษณะของจิต และเจตสิกนั้น  ทำงานร่วมกันแล้วก่อให้เกิด  “โลภะเหตุ ๘”  มีทิฏฐิ  เป็นยาสธรรมก่อให้เกิดกรรม  ทำให้สัตวะข้องอยู่ในโลก ไม่ว่าอารมณ์  จะเกิดจาก  ๑.ตาเห็นรูป  ๒.หูได้ยินเสียง  ๓.จมูกได้กลิ่น  ๔.ลิ้นได้ลิ้มรส  ๕.กายได้สัมผัส  ๖.จิตใจ ได้รับธัมมารมณ์  ต่างก็จะได้เก็บเป็น  “กรรมอารมณ์”  ไปสะสมอยู่ใน ชวนจิต  ดังนั้น
จะพิจารณาได้ว่า  การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้  ตั้งแต่ตื่นนอน จนกระทั้งเข้านอน  สัตวะล้วนอยู่ด้วย โลภะ ทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะรับประทานอาหาร  เรียนหนังสือ  ทำงานหาเลี้ยงชีพ  ร้องเพลง เดิน ยืน นั่ง นอน  ออกกำลังกาย  ฯลฯ 
         โทสะ  หมายถึง  โทสะมลจิต ๒ ประการ  ซึ่งเกิดจาก  อกุสะละเจตสิก  ที่ทำงานเข้ากันได้กับ  โทสะจิต ๒  คือ  ๑.โกรธ  คิดประทุษร้าย  เป็นมูลเหตุมี ๒ ดวง   คือ
๑.     ขัดใจ  และไม่มีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
๒.     ขัดใจ  และมีเหตุจูงใจ (ก็ชั่วได้)
         อัญญสมานาเจตสิก ๑๓  และ อกุสะละเจตสิก ๘  โมจะตุกกะเจตสิก ๔  โทจะตุกะเจตสิก ๔  โดยวิเสสะ ลักษณะของจิต และเจตสิกนั้น ๆ  ทำงานร่วมกัน  ก่อให้เกิด  โทสะเหตุ ๒ มี  ปฏิมะ ๒ (ความหงุดหงิด)  เป็นองค์ธรรมก่อให้เกิด  “กรรม”  ซึ่งเป็นโทษ เป็นภัย  ไม่ว่าจะเกิดจาก
๑.     ตาเห็นรูป
๒.     หูได้ยินเสียง
๓.     จมูกได้กลิ่น
๔.    ลิ้นได้ลิ้มรส
๕.    กายได้สัมผัส
๖.     จิต – ใจ  ได้รับธรรมมารมณ์  แล้วไปเกิดเป็น  “กรรมอารมณ์”  ไปสะสม ชวนจิต  เช่นการทะเลาะ วิวาท การทำสงคราม การฆ่า ความอาฆาตพยาบาท ความกลัวตาย  กลัวไม่มีชื่อเสียง กลัวไม่มีคนรัก  กลัวสัตว์ทุกชนิดต่าง ๆ กลัวฟ้าร้อง  กลัวภูตผีปีศาจ กลัวเทพเจ้า  เกลียดสีนี้ เกลียดสีนั้น เกลียดคนนั้น เกลียดคนนี้ ฯลฯ
         โมหะ  หมายถึง โมหะมูลจิต  ๒ ประการ  ซึ่งเกิดจาก  “อกุสะละเจตสิก”  เกิดเพราะมีโมหะ  ความโง่ ความหลง   เป็นมูลเหตุ ๒ ประการ คือ
๑.     จิตเฉย  และมีความลังเลสงสัย (ก็ชั่วได้)
๒.     จิตเฉย  และคิดฟุ้งซ่าน (ก็ชั่วได้)
         โมหะจิต ๒  ที่ทำงานเข้ากันกับ  อัญญสมานาเจตสิก ๑๓  และกลุ่ม อกุสะละเจตสิก  ที่เป็นโมจะตุกะเจตสิก ๔  โดยที่  วิเสสะลักษณะของจิต และเจตสิกนั้น ๆ ทำงานร่วมกัน  แล้วก่อให้เกิด “โมหะเหตุ ๑๒”  มี วิจิกิจฉา และอุทธัจจะ เป็นองค์ธรรม  ก่อให้เกิด  “กรรม”  ทำให้สัตวะต้องเวียนว่ายใน  “สงสารวัฏฏะ” หรือ ปฏิจจสมุปบาท  อันยาวนาน  เพราะไม่รู้ความเป็นจริง  เช่น  ไม่รู้อดีต ไม่รู้อนาคต  ไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต  ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท  ไม่รู้อริยสัจ ๔  ไม่รู้เรื่องจิต  เจตสิก รูป ธาตุ อารมณ์ อายตนะ ฯลฯ  จึงทำให้สัตวะทั้ง ๒๖ ภูมิ  ยกเว้นพรหมชั้นสุทธาวาส ๕ ชั้น  ที่เป็นพระอนาคามี และอรหันต์  ที่ยังไม่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน  ต้องเวียนว่ายในสังขารวัฏฏะชาติแล้วชาติเล่า  หาหนทางพ้นทุกข์ไม่ได้จนกว่าจะมีพระอรหันต์  สัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้น  แล้วทรงมาชี้แนะทางสว่างให้หลุดพ้นจากสงสารวัฏฏะ
         จะเห็นได้ว่า  โลภะ โมหะ โมหะ  ตามความหมายของ  “ปุถุชน”  กับความหมายของ        “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีความแตกต่างกันอย่าสิ้นเชิง”   ถ้าผู้ฟังติดอยู่ที่คำแปล  แล้วไม่สิกขาธรรม ศึกษาธรรมให้ละเอียดลุ่มลึกให้เข้าใจว่า  แท้จริงแล้ว  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  สอนอะไร รู้แจ้ง เห็นจริง เห็นทุกข์ เห็นอริยสัจ ๔  เห็นอย่างไร
         สำหรับผู้ที่ยังติดอยู่ที่คำแปล  ถ้าไม่เข้าใจธรรมอย่างละเอียดเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ต่อพระพุทธศาสนา  เพราะจะทำให้พุทธศาสนา  ถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง และทำให้ พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังเข้าใจผิด  จดจำผิด มัคค ผล และนิพพาน
         การไม่รู้ไม่สนใจ แม้แต่ในเรื่องของตัวเอง  ไม่เรียนรู้จิตของตัวเองว่ามี  โลภะ โทสะ โมหะ  แสดงว่า  ไม่มีวินัย  เป็นผู้อยู่นอกธรรม  จึงไม่รู้เรื่อง รูป เสียง นาม  ไม่รู้เรื่องการ  ดับรูปดับนาม  หรือ ไม่รู้การตัดรูปตัดนาม  ที่อยู่ในจิตของเราที่มีอยู่มากมาย  พระพุทธองค์ทรงสอนหมดแล้วทุกอย่าง  เพียงแต่ให้เราศึกษา ค้นหาความรู้เท่านั้น  เราไม่มีสิทธิรู้ว่าจะแก้ไขได้อย่างไร  เมื่อยังไม่ตาย ยังมีโอกาสแก้ตัว  ถ้าตายหรือจุติจากโลกนี้ไปแล้ว
        อกุสะละวิปากะจิต  จะนำไปเกิด หรือปฏิสนธิ  ในอบายภูมิ ๔  ไม่เป็นเปรต  ก็อสุรกาย  ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็สัตว์นรก  แน่นอน  ดังนั้น  จะเห็นได้ว่าจิตสำคัญที่สุด  จะมีโลภะ โทสะ โมหะ  ก็อยู่ที่จิต  ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว  ทุกสิ่งทุกอย่างจะสำเร็จอยู่ที่จิต